ตาล้า ปวดตา เพราะแสงไฟ ไม่พอหรือเปล่า?
เรื่องแสงไฟ เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม
แสงไฟไม่พอ…ถือเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพดวงตา ที่อาจจะทำให้เกิดอาการตาล้า ปวดตา หรือแสบตา ซึ่งเป็นจุดเริ่มของอาการโรคคอมพิวเตอร์วิชชันซินโดรม (Computer vision syndrome) เนื่องจากการต้องนั่งจ้องบริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟน ในพื้นที่ที่แสงไม่พอหรือจ้าเกินไป เป็นระยะเวลานานตลอดทั้งวัน จนส่งผลกระทบให้เกิดอาการเหนื่อยล้าบริเวณดวงตาได้
ทำไมแสงไฟ ถึงทำให้ ตาล้า ปวดตาได้?
-
แสงไฟ สว่างไม่เพียงพอ
ปัญหาแสงไฟสว่างไม่เพียงพอ เช่น ห้องติดตั้งไฟเพียงดวงเดียว ติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่ถูกต้อง หรือค่าความสว่างไม่เหมาะสมกับการทำงาน ปัญหาเหล่านี้ทำให้เราต้องใช้สายตาเพ่งมากเกินไป รวมถึงการต้องเอาหน้าเข้าไปใกล้กับสิ่งที่เรามองจนทำให้สายตาเราล้าจากแสงของหน้าจอได้ ซึ่งในห้องทำงานจึงควรมีแสงไฟที่เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อไม่ให้เกิดภาวะตาล้าได้นั่นเอง
-
แสงไฟ สว่างเกินไป
แสงไฟ ที่สว่างเกินไป ทำให้เกิดแสงไฟตกกระทบ หรือที่เราเรียกว่า Glare light เข้าที่ตาได้ เช่น แสงไฟจากจอคอมพิวเตอร์ แสงจากหลอดไฟที่ไม่มีตัวกรองแสง เมื่อแสงจ้าหรือสว่างเกินไป ก็ส่งผลต่ออารมณ์ และความไม่สบายตาได้ จนทำให้ตาล้า ตาแห้ง และระคายเคืองได้ง่าย
การเลือกใช้แสงสว่างให้เหมาะสมกับห้อง
เลคิเซ่ ขอแนะนำเทคนิคในการเพิ่มแสงสว่างให้เหมาะสมกับการทำงาน วิธีการวัดค่าความสว่างของหลอดไฟ ซึ่งหลายคนอาจจะยังเข้าใจผิดว่า ค่าวัตต์ คือ หน่วยวัดค่าความสว่าง (Watt) เพราะในยุคแรกๆ ของการผลิตหลอดไฟ เราใช้จำนวนวัตต์ในการเปรียบเทียบค่าความสว่างของหลอดไฟ (Watt = การใช้กำลังไฟฟ้าต่อหนึ่งหน่วยเวลา : J/s ) เนื่องจากใช้กำลังไฟฟ้าเพื่อให้เกิดความสว่าง แต่ในปัจจุบันได้มีเทคโนโลยีที่ทำให้หลอดไฟแต่ละชนิดกินไฟเท่ากัน (วัตต์เท่ากัน) แต่ให้ค่าความสว่างที่แตกต่างกันได้ ลูเมน (Lumen) และ ลักซ์ (Lux)
ลูเมน (Lumen) และ ลักซ์ (Lux) มีความแตกต่างกันอย่างไร?
รูป : แสดงความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณแสงชนิดต่าง ๆ
1. ลูเมน (Lumen) คืออะไร
ลูเมนเป็นการวัดปริมาณของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟในแต่ละวินาที ซึ่งจะมีค่าคงที่ เพราะไม่ว่าเราจะติดไฟไว้ที่จุดไหน ปริมาณของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟก็จะมีค่าเท่าเดิม ซึ่งค่าลูเมน มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบกับค่าการกินไฟ (จำนวนวัตต์) เพื่อหาค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง (lm/W) ซึ่งค่าลูเมนต่อวัตต์ที่ออกมา ยิ่งค่าออกมาสูง ก็จะยิ่งช่วยประหยัดไฟ
ค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง = ค่าลูเมน / กำลังไฟฟ้า (วัตต์) |
เปรียบเทียบค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง
หลอดไฟ LED T8 รุ่น PERFECT ECO มีค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง 100 lm/w
คำนวณจาก หลอดไฟดวงนี้ให้ปริมาณแสง 900 ลูเมน / กำลังไฟฟ้า (กินไฟ) 9 วัตต์
หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ T8 มีค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง 65 lm/w
คำนวณจาก หลอดไฟดวงนี้ให้ปริมาณแสง 1160 ลูเมน / กำลังไฟฟ้า (กินไฟ) 18 วัตต์
หลอดไส้ Incandescent Lamp มีค่าประสิทธิภาพการส่องสว่าง 20 lm/w
คำนวณจาก หลอดไฟดวงนี้ให้ปริมาณแสง 1,250 ลูเมน / กำลังไฟฟ้า (กินไฟ) 100 วัตต์
Tips : ลองดูข้อมูลที่หน้ากล่องแล้วมาแปลงค่า Watt เป็น Lumen ได้ ที่นี่
2. ลักซ์ (Lux) คืออะไร
ลักซ์ เป็นหน่วย ปริมาณของแสงหรือความเข้มของแสงที่ตกลงบนพื้นที่ต่อตารางเมตร ซึ่งค่านี้ไม่ได้บอกถึงประสิทธิภาพของแสงที่ตัวหลอดไฟ แต่เป็นการวัดค่าความสว่างที่ตกกระทบลงบนพื้นผิว โดย 1 Lux มีค่าเท่ากับ 1 ลูเมนต่อตารางเมตร นิยมนำมาใช้ในการคำนวณว่าพื้นที่นี้ต้องการแสงสว่างเท่าไหร่ ด้วยการจำลองแสงไปในทิศทางต่าง ๆ ตามรูปแบบการกระจายแสงของโคม ระยะห่างระหว่างหลอดไฟถึงพื้นที่ใช้งาน แล้วแสงที่เหลืออยู่จะมีความข้มของแสงสว่างเท่าไหร่ เพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่?
เมื่อเปิดหลอดไฟ 1 หลอดในห้องทำงาน แล้ววัดปริมาณแสง บริเวณที่อยู่ใกล้กับหลอดไฟจะมีปริมาณแสงมาก แต่บริเวณที่อยู่ไกลหลอดไฟจะมีปริมาณแสงที่น้อยลง ถึงแม้จะเลือกหลอดไฟที่ให้ลูเมนที่เท่ากัน แต่ถ้านำไปติดตั้งในโคมไฟที่มีลักษณะการกระจายแสงแตกต่างกัน อาจทำให้ปริมาณของแสงที่ตกกระทบลงบนพื้นที่ไม่เท่ากัน ลักซ์ จึงนิยมนำมาใช้เป็นหน่วยวัดความสว่างจริงในแต่ละพื้นที่ ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงตามระยะห่างจากโคมไฟค่ะ
แทนค่าด้วยสูตร lx = lm / m2
lx = Lux ความเข้มของแสง หรือค่าความสว่าง
lm = Lumen ปริมาณแสงจากตัวหลอดไฟ
m2 = พื้นที่ตารางเมตร
ค่าลักซ์ (lx) จะเท่ากับ ลูเมน (lm) ต่อ ตารางเมตร พูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ
ปริมาณแสง 1,000 Lumen เมื่อวัดพื้นที่รอบหลอดไฟในรัศมี 1 ตารางเมตร สามารถให้ความเข้มของแสงสว่างบนพื้นผิว ได้ 1,000 Lux คิดตาม สูตร 1,000 lx = 1000 lm / 1 ตารางเมตร
กลับกันถ้าปริมาณของแสง 1,000 Lumen ในรัศมี 10 ตารางเมตร ก็จะให้ความเข้มของแสงบนพื้นผิว ได้ 100 Lux เท่านั้น คิดตามสูตร 100 lx = 1,000 lm / 10 ตารางเมตร
สามารถโหลด Application : Lux Meter ใน Smart Phone เพื่อใช้วัดแสงภายในบ้าน แม้จะไม่ละเอียดเท่ากับเครื่องมือวัดแสงโดยตรง (Lux Meter) แต่ก็สามารถใช้วัดความสว่างเพื่อใช้งานที่บ้านทดแทนได้ โดยค่า Lux ที่แนะนำสำหรับห้องทำงานจะเฉลี่ยอยู่ที่ 300-500 Lux
สำหรับกล่องบรรจุภัณฑ์ของหลอดไฟจะมีค่าลูเมน (Lumen) กำหนดอยู่บนกล่อง เมื่อคุณไปเลือกซื้อก็สามารถดูที่ค่า Lumen เพียงอย่างเดียวก็ได้ เพราะนั่นก็บ่งบอกถึงประสิทธิภาพการให้ความสว่างของหลอดไฟดวงนั้นๆ แล้ว แต่จะดียิ่งขึ้น…ถ้าคุณสามารถคำนวณค่าความสว่างที่เหมาะสม เพื่อให้ทราบว่าต้องซื้อหลอดไฟที่ให้ค่า Lumen เท่าไหร่และซื้อจำนวนกี่หลอด เพื่อให้เหมาะกับพื้นที่การใช้งาน เพื่อลดอาการตาล้า ปวดตา ในขณะทำงานและกิจกรรมต่างๆ ได้อย่างเหมาะสม
Tips : ลองดูข้อมูลที่หน้ากล่องแล้วมาแปลงค่า Lux เป็น Lumen ได้ ที่นี่
การจัดแสงสว่างให้เหมาะสมกับห้องทำงาน
การสร้างสภาพแวดล้อมด้านแสงสว่างที่เหมาะสมในการทำงาน ถือเป็นทางเลือกอีกทางในการช่วยลดปัญหาสุขภาพด้านสายตาลงไปได้ ทั้งการเลือกประเภทแสง ประเภทโคมไฟ รูปแบบการติดตั้ง ปริมาณแสงที่เหมาะสม เพื่อช่วยเพื่มความสามารถในการมองเห็น และความสบายตาต่อการทำงาน
1. ใช้แสงธรรมชาติช่วย
ควรจัดโต๊ะทำงานให้มีแสงธรรมชาติส่องแสงผ่านเข้ามา เนื่องจากแสงธรรมชาตินั้น เป็นแสงที่สบายตาและเหมาะที่สุด สำหรับการทำงานในช่วงกลางวัน และทำให้เราไม่ต้องเพ่งสายตามากเกินไป
โต๊ะทำงานควรหันหน้าเข้าหาแสงธรรมชาติ หากถนัดซ้าย แสงธรรมชาติควรส่องผ่านทางด้านขวา และในทางตรงกันข้าม หากถนัดขวา แสงธรรมชาติควรจะส่องผ่านเข้าทางด้านซ้าย เพื่อไม่ให้แสงรบกวนระหว่างวันทำงาน
2. ใช้หลอดไฟ ช่วยจัดแสงภายในห้อง
ห้องทำงาน ถือเป็นห้องที่เราใช้เวลามากที่สุด แถมยังเป็นห้องที่ต้องใช้สายตาเป็นอย่างมาก ดังนั้นเราควรจัดแสงไฟภายในห้องทำงานให้เหมาะสม ซึ่งจะเป็นตัวช่วยสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพสายตา
ความเข้มของแสงสว่างที่เหมาะสมสำหรับห้องทำงาน
ความสว่าง 300 – 500 Lx หรือ หลอดไฟที่มีปริมาณแสงประมาณ 500 – 1,000 lm
โทนสี
ห้องทำงานควรเลือกใช้ไฟโทนสีขาวสว่าง (5,700 - 6,500 K) มีความคล้ายคลึงกับแสงธรรมชาติมากที่สุด ช่วยให้รู้สึกสดใส สายตามองเห็นได้ดี สบายตา สีไม่ผิดเพี้ยน เพราะไม่ทำให้รู้สึกร้อน ความเพี้ยนของสีวัตถุต่ำ และสามารถใช้ในการอ่านได้เป็นระยะเวลานานได้ โดยไม่เกิดอาการเมื่อยล้าสายตา
ประเภทของแสงไฟที่นิยมใช้ภายในห้องทำงาน
1. แสงแวดล้อม หรือแสงล้อมรอบ (Ambient Light/General Light)
แสงล้อมรอบ ถือเป็นแสงที่เป็นพื้นฐานที่ใช้ภายในห้อง เป็นการใช้แสงทดแทนแสงธรรมชาติโดยให้แหล่งกำเนิดแสงจากที่สูง เช่น
-
โคมไฟแบบฝังฝ้า นิยมใช้ โคมดาวน์ไลท์ฝังฝ้า, โคมตะแกรงฝังฝ้า, โคมไฟอะคริลิคฝังฝ้าที่สามารถใช้ร่วมกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 หรือหลอดไฟยาว LED T8 โดยแสงจากโคมไฟประเภทนี้มีลักษณะการกระจายแสงเป็นมุมกว้างครอบคลุมพื้นที่ภายในห้องรอบทุกทิศทาง ให้แสงสว่างทั่วทั้งบริเวณห้อง แสงล้อมรอบจะไม่เน้นความสวยงาม แต่จะใช้เน้นการใช้งานเป็นหลัก
รูป : โคมตะแกรงฝังฝ้า ใช้ร่วมกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 หรือหลอดไฟยาว LED T8
รูป : โคมอะคริลิคฝังฝ้า ใช้ร่วมกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 หรือหลอดไฟยาว LED T8
รูป : โคมไฟดาวน์ไลท์แบบฝังฝ้า LED SLIM DOWNLIGHT รุ่น EASYSLIDE
รูป : โคมไฟดาวน์ไลท์แบบฝังฝ้า ULTRASLIM 3 LED SLIM DOWNLIGHT
-
โคมไฟเพดานแบบติดลอย นิยมใช้ เป็นโคมดาวน์ไลท์ LED, โคมตะแกรงติดลอย, โคมไฟอะคริลิคติดลอย ที่สามารถใช้ร่วมกับหลอดฟลูออเรสเซนต์ T8 หรือหลอดไฟยาว LED T8, โคมซาลาเปา และโคมไฟที่ห้อยลงมาจากเพดาน (Chandeliers)
รูป : โคมไฟเพดาน LED Ceiling light รุ่น Crystal slim
รูป : โคมดาวน์ไลท์แบบฝังผ้า รุ่น VEGA2 ใช้ร่วมกับหลอด Bulb ทรง A60
รูป : โคมไฟดาวน์ไลท์ รุ่น DUOFIT ใช้ได้ทั้งแบบติดลอยและแบบฝังฝ้า
2. แสงใช้งาน/แสงไฟเฉพาะจุด (Task Light)
แสงใช้งานเป็นแสงสว่างที่ออกแบบมาให้มีระดับแสงที่สว่างเป็นพิเศษ และควรให้แสงสว่างอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ทำให้เกิดเงามืดบนพื้นที่ใช้งาน เช่น แสงบริเวณโต๊ะทำงาน ออกแบบมาเพื่อให้แสงสว่างในการอ่านหนังสือ หรือสำหรับการทำงานหน้าคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มองเห็นได้อย่างชัดเจน เป็นต้น
การที่ห้องเรามีแสงสว่างไม่เพียงพอ ก็สามารถนำแสงไฟเฉพาะจุดมาเพิ่มความสว่างกับส่วนนั้นๆ ได้ โดยประเภทโคมไฟที่พบเห็นบ่อย คือ
-
โคมไฟตั้งพื้น (Floor Lamps), โคมไฟโต๊ะทำงาน (Desk Lamp) เหมาะที่จะใช้ตกแต่งห้องนอน ห้องนั่งเล่น หรือห้องทำงาน โดยให้แสงกระจายเฉพาะจุด จึงออกแบบให้สามารถปรับองศาได้หลากหลายเพื่อไม่ให้เกิดเงามืดของมือบังแสง ซึ่งโคมไฟชนิดนี้ จะช่วยเพิ่มแสงสว่างในตำแหน่งที่แสงไฟจากเพดานส่องไปไม่ถึงหรือแสงไฟในบริเวณนั้นไม่เพียงพอ
รูป : ตัวอย่างโคมไฟ Task light แบบโคมไฟตั้งโต๊ะ
-
โคมไฟผนังหรือโคมไฟติดกำแพง (Wall Light, Wall Sconce)
เป็นโคมไฟที่ให้แสงสว่างเน้นบนผนังเพื่อกระจายออกด้านข้าง โดยแสงจะกระทบเพดานและพื้น จะเป็นโคมที่ยื่นออกมาจากผนัง เหมาะสำหรับหน้าโต๊ะเครื่องแป้ง หรือหน้าบริเวณที่ติดกระจก จะช่วยให้แสงสว่างโดยไม่เกิดเงาบนใบหน้า ทำให้ผู้ใช้งานสามารถเห็นรายละเอียดได้อย่างชัดเจน
ข้อควรระวังในการออกแบบแสงสว่างภายในห้องทำงาน
แสงจ้ากระทบดวงตา (Glare)
สำหรับโต๊ะทำงานที่มีหน้าจอแสดงผล แสงสว่างต้องเหมาะสมกับการทำงานที่เกิดขึ้นกับกิจกรรมบนโต๊ะทำงานนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็น การอ่านข้อมูลบนหน้าจอแสดงผล การอ่านและเขียนบนกระดาษ การพิมพ์ งานบนแป้นคีย์บอร์ด เป็นต้น
การเลือกความสว่างและการติดตั้งโคมไฟอย่างไม่เหมาะสม อาจจะทำให้เกิดปัญหาแสงจ้าระคายตา หรือที่เรียกว่า อาการแสงจ้ากระทบดวงตา (Glare) สาเหตุส่วนใหญ่มาจากการส่องสว่างของโคมไฟที่ถูกออกแบบและติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิด
รูป : ตำแหน่งแสงกระทบดวงตา
-
แสงไฟสะท้อนดวงตาโดยตรงจากโคมไฟที่ใช้ จากการติดตั้งในตำแหน่งที่ไม่เหมาะสม
-
แสงไฟสะท้อนดวงตาโดยตรงจากการสะท้อนแสงจากพื้นของโต๊ะทำงาน ที่เป็นผิวมันหรือมันเงา
-
แสงไฟสะท้อนดวงตาโดยตรงจากการสะท้อนแสงของหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือคีย์บอร์ด
-
แสงไฟสะท้อนดวงตาโดยตรงจากแสงแดด
-
การสะท้อนบดบังจากความส่องสว่างบนหน้าจอ
รูป : ตัวอย่างการสะท้อนบดบัง
หากต้องการแก้ไขแสงจ้าสะท้อน (Glare) ความสว่างของโคมไฟจึงต้องถูกจำกัดให้เหมาะสมกับหน้าจอแสดงผล และจำเป็นต้องคำนึงถึงการจัดวางตำแหน่ง
-
หลีกเลี่ยงโต๊ะหรืออุปกรณ์ที่มีพื้นผิวมัน ผิวเงา เพื่อหลีกเลี่ยงแสงสะท้อนที่จะทำให้รบกวนสายตา
-
ความสว่างของโคมไฟจะต้องถูกจำกัดให้เหมาะสม ไม่สว่างเกินไป หรือติดตั้งโคมไฟที่ความสูงพอดีกับปริมาณแสง หรืออาจจะใช้โคมไฟที่มีความสว่างปานกลางแต่ใช้หลายดวง แทนที่จะใช้โคมไฟที่ให้ความสว่างสูงมากๆ เพียงจุดเดียว
-
หลีกเลี่ยงการติดหลอดไฟแบบเปลือย แนะนำให้ติดตั้งหลอดไฟร่วมกับโคมที่มีฝาครอบ อาทิ โคมตะแกรง หรือโคมอะคริลิค หากเป็นโคมดาวน์โลท์แนะนำดาวน์ไลท์ที่มีฝาครอบเลนส์ เพื่อลดอาการแสงแยงตา และไม่สบายตา
-
การเพิ่มแสงสว่างในพื้นที่รอบๆ ไม่ให้มีความต่างระดับของปริมาณแสงมากเกินไป เพื่อลดการสะท้อนบนพื้นผิว
-
ปรับตำแหน่งจุดติดตั้งโคมไฟ หรือปรับตำแหน่งโต๊ะทำงาน เพื่อลดแสงสะท้อนที่พุ่งเข้าหาดวงตา
-
ไม่ควรจัดตำแหน่งโคมไฟโดยให้อยู่ด้านหน้า แสงจะสะท้อนพุ่งเข้าหาดวงตาได้ หรือติดตั้งโคมไฟบริเวณเหนือศีรษะโดยตรง เพราะแสงจะสะท้อนเข้าที่หน้าจอแสดงผลได้
-
อย่าวางตำแหน่งโต๊ะทำงานโดยให้โคมไฟอยู่ด้านหลัง ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเงาพาดลงบนโต๊ะทำงาน และบริเวณหน้าจอคอมพิวเตอร์ได้
-
ปรับแสงสว่างจากจอคอมพิวเตอร์ หรือสมาร์ทโฟนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
จากตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น กรณีไม่สามารถปรับตำแหน่งหรือย้ายจุดติดตั้งโคมไฟได้ และห้องทำงานยังคงมีแสงสว่างไม่เพียงพอ มีอาการปวดตา และระคายเคืองตาเมื่อนั่งทำงาน ทางเลคิเซ่แนะนำให้ติดตั้งโคมไฟเฉพาะจุดเพิ่มเติม ที่สามารถปรับทิศทางในการส่องแสงสว่างได้ เพื่อลดปัญหาแสงเข้าตาโดยตรง และใช้โคมไฟส่องสว่างเฉพาะจุดที่สามารถควบคุมพื้นที่ในการส่องสว่างหรือในระยะระหว่าง 10-30 องศา หรือควรขยับโคมไฟตั้งโต๊ะ ให้ห่างออกจากหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือหันโคมไฟเข้ากับผนังด้านหลังจอ เพื่อให้แสงสว่างสะท้อนกว้างขึ้น ก็จะสามารถช่วยลดเงา และทำให้การนั่งทำงานมีประสิทธิภาพ ตาไม่ล้า และสบายตามากขึ้น เพียงเท่านี้ก็สามารถลดปัญหาการเกิดแสงเข้าตาโดยตรงได้แล้ว
เป็นอย่างไรบ้างคะ? กับความรู้เกี่ยวกับปัญหาแสงไฟไม่พอ หรือสว่างจนจ้าเกินไป ที่อาจจะเป็นต้นเหตุของสุขภาพสายตา ทั้งอาการตาล้า ปวดตา ถือว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม ไม่เพียงแต่จะเป็นปัญหาในการทำงานเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อสุขภาพสายตาเราในระยะยาวแบบไม่รู้ตัวอีกด้วย
ต้องการสอบถามข้อมูลเรื่องแสงสว่างเพิ่มเติม
เพียงแค่คุณ…ทักมาหา เลคิเซ่ เราพร้อมให้บริการคำปรึกษา แนะนำการเลือกหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งานLine ID : @lekisegroup หรือ https://page.line.me/lekisegroup
LeKise : รับตัวแทนจำหน่ายและรับผลิตสินค้า OEM
#Lekise #เลคิเซ่ #LeKiselighting #โรงงานหลอดไฟ #ประเภทหลอดไฟ