เลือกหลอดไฟที่ใช่ ให้ตอบโจทย์การใช้งาน
ปัญหาการเลือกซื้อหลอดไฟจะหมดไป…
รู้ก่อนซื้อ…เลคิเซ่ ขอพาไปทำความรู้จักหลอดไฟ ตั้งแต่ ประเภทหลอดไฟ แสง ขั้ว ไปจนถึงการเลือกซื้อหลอดไฟ ว่าจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง เพื่อให้คุณได้เลือกซื้อหลอดไฟที่ใช่ ให้ตอบโจทย์การใช้งานที่สุด
ประเภทของหลอดไฟ
แสงสว่างจากหลอดไฟ ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการดำเนินชีวิต ทำให้เราสามารถใช้ชีวิตในแสงสว่างได้ตลอด 24 ชั่วโมง แม้กระทั่งในช่วงเวลาที่ไม่มีแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ ด้วยการใส่ใจด้านอนุรักษ์พลังงานที่เกิดขึ้น ทำให้หลอดไฟถูกพัฒนาเพื่อใช้ทดแทนและตอบโจทย์เรื่องการประหยัดพลังงานมากยิ่งขึ้น โดยประเภทหลอดไฟที่นิยมใช้กัน มีดังนี้
1. หลอดไส้ (Incandescent Lamp)
หลอดไส้ หรือหลอดอินแคนเดสเซนต์ ส่วนใหญ่ในหลอดไส้จะมีขดลวดทังสเตนอยู่ภายในหลอด เมื่อมีกระแสไฟฟ้าไหลผ่านขดลวดเส้นเล็กๆ นี้ เพื่อทำให้เกิดความร้อน ซึ่งความร้อนนี่เองที่เป็นตัวจุดประกายไฟ ทำให้หลอดไฟเกิดแสงสว่าง ให้ความร้อนสูงมากระหว่าง 60-200 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นสาเหตุให้หลอดไส้ใช้พลังงานค่อนข้างมาก
ข้อดี คือ ขนาดเล็ก ราคาถูก ข้อเสีย คือ มีอายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 700-1,500 ชั่วโมง กินไฟมาก เปิดใช้งานไม่นาน หลอดจะส่งความร้อนออกมา แม้หลอดไส้จะให้ความร้อนสูงกว่าหลอดทุกประเภท แต่ยังคงเป็นหลอดไฟที่ได้รับความนิยมในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ สำหรับเปิดในโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ เพื่อเพิ่มความอบอุ่นในการกกไก่, กกหมู และ กกสัตว์เลี้ยงประเภทอื่นๆ เป็นต้น ข้อควรระวัง ไม่ควรเปิด-ปิดบ่อยๆ เพราะจะทำให้หลอดเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ในอดีตมักใช้ตามอาคารบ้านเรือนทั่วไป แต่ความนิยมลดลง เนื่องจากมีหลอดไฟประเภทอื่นมาทดแทนเรื่องการประหยัดพลังงาน
2. หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescent Lamp) (หลอดนีออน)
หลอดฟลูออเรสเซนต์ หรือที่เรียกกันติดปากว่า หลอดยาว หรือหลอดนีออน การทำงานของตัวหลอด เมื่อกระแสไฟฟ้าไหลผ่านไอปรอทที่บรรจุไว้กับก๊าซเฉื่อยภายในหลอดแก้ว โดยปล่อยพลังงานจากแสงออกมา เมื่อพลังงานกระทบเข้ากับผิวข้างในหลอดที่เคลือบสารเรืองแสงฟอสเฟอร์ (Phosphor) ก็จะเปลี่ยนแสงอัลตราไวโอเลตที่มีความยาวคลื่น 253.7 nm (นาโนเมตร) ให้เป็นแสงสว่างที่มองเห็นได้
เนื่องจากหลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ไม่ได้ให้แสงสว่างโดยอาศัยความร้อน ข้อดี ก็คือ อายุการใช้ยาวนานเฉลี่ยประมาณ 6,000 ถึง 20,000 ชั่วโมง และให้แสงสว่างมากกว่าหลอดไส้ประมาณ 5 เท่า โดยใช้พลังงานไฟฟ้าเท่ากัน ในการใช้งานจำเป็นต้องติดตั้งคู่กับชุดบัลลาสต์ และสตาร์ตเตอร์ ซึ่งอาจจะทำให้กินไฟเพิ่มขึ้น 10w-12w
ต่อมาจึงมีการคิดค้นหลอดผอม T5 เพื่อช่วยประหยัดพลังงานและค่าไฟฟ้า หลอดเล็กกว่า แต่ให้ความสว่างเท่ากัน โดยมีอายุการใช้งานเฉลี่ยมากกว่าหลอดไส้ ถึง 8 เท่า จึงถือเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในการเลือกใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนส์ จำเป็นต้องติดตั้งร่วมกับ Adapter ขั้ว G13 สำหรับ T5 เพื่อเพิ่มความยาวหลอดและปรับขนาดหลอดให้เข้ากับโคมชุดเดิม และต้องเปลี่ยนเป็นบัลลาสต์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับหลอด T5
หลอดฟลูออเรสเซนส์ถือเป็นหลอดนิยม ใช้ติดตั้งในบ้าน ที่อยู่อาศัย โรงงาน สำนักงาน และออฟฟิศ เนื่องจากหลอดฟลูออเรสเซนส์สามารถปรับแต่งสีได้หลากหลาย จึงนิยมนำมาใช้เป็นหลอดไฟสำหรับตกแต่งในเทศกาลต่างๆ เช่น สวนสนุก, งานวัด ร้านอาหาร และยังมีหลอดไฟแบล็คไลท์ ที่ให้แสงสีน้ำเงินเข้มที่มีประสิทธิภาพในการล่อแมลง นิยมใช้ร่วมกับเครื่องดักยุง หรือดักแมลง
เมื่อหลอดไฟหมดอายุการใช้งาน หากนำหลอดไฟไปทิ้งจำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากหลอดมีไอปรอทที่เป็นอันตราย และตัวหลอดไฟวัสดุทำมาจากแก้ว หากทิ้งไม่ถูกวิธีอาจจะทำให้เกิดอันตรายได้ (สามารถดูวิธีการทิ้งหลอดไฟที่ถูกต้องได้ที่…link สอนวิธีการทิ้งหลอดไฟ)
3. หลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent Lamps : CFL)
หลอดคอมแพกต์ฟลูออเรสเซนต์ (Compact Fluorescent Lamps : CFL) หรือหลอดตะเกียบ ได้ถูกพัฒนาขึ้นมา เพื่อใช้แทนหลอดไส้ในบ้านและอาคารพาณิชย์ มีขนาดเล็กกะทัดรัด มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าหลอดไส้ถึง 8 เท่า หรือเฉลี่ยที่ 8,000 ถึง 10,000 ชั่วโมง
ซึ่งหลอดคอมแพคฟลูออเรสเซนต์กินไฟเฉลี่ยเพียง 25% หรือประหยัดพลังงานมากกว่า 4 เท่า เมื่อเทียบกับหลอดไส้ที่ให้แสงสว่างเท่ากัน เมื่อเปิดใช้งานหลอดตะเกียบจึงมีความร้อนน้อยกว่าหลอดไส้ ช่วยลดการทำงานของเครื่องปรับอากาศได้มาก สามารถนำหลอดคอมแพคฯ ไปใช้ติดตั้งแทนหลอดไส้ที่มีอยู่เดิมได้ทันที ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและเปลี่ยนหลอด เนื่องจากมีอายุการใช้งานนานกว่าหลอดไส้
ขนาดของหลอดตะเกียบแบ่งออกเป็น 5 ชนิด ด้วยกัน คือ 2U, 3U, 4U, 5U, 6U ซึ่ง 3 ชนิดหลังเหมาะกับโรงงานหรืออาคารเชิงพาณิชย์มากกว่า ส่วนที่เหลือเหมาะกับบ้านเรือนหรือที่พักอาศัยทั่วไป
ส่วนวิธีการทิ้งหลอดไฟจำเป็นต้องระวังเป็นพิเศษเหมือนกับหลอดฟลูออเรสเซนส์ เนื่องจากหลอดมีไอปรอทที่เป็นอันตราย และตัวหลอดไฟวัสดุทำมาจากแก้วเช่นกันค่ะ
4. หลอดไฟแอลอีดี (LED)
หลอดไฟแอลอีดี หรือ หลอดไฟ LED ย่อมาจาก Light Emitting Diodes เป็นหลอดไฟนวัตกรรมใหม่ที่ได้รับการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องเพื่อการประหยัดพลังงาน จนเป็นที่นิยมในปัจจุบัน ด้วยหลักการทำงานของหลอดไฟแอลอีดี คือ เป็นการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปที่ชิป LED และให้แสงสว่างจากอิเล็กตรอน โดยไม่มีการทำให้เกิดความร้อน จึงสามารถออกแบบและผลิตแสงสว่างได้ในปริมาณที่ต้องการ ใช้พลังงานน้อยลง และกินไฟน้อยกว่าหลอดไฟประเภทอื่น ๆ
ซึ่งหลอดไฟแบบแอลอีดี (LED) สามารถประหยัดพลังงานได้ถึง 90% เมื่อเทียบกับหลอดไส้ และประหยัดพลังงานมากกว่าหลอดตะเกียบถึง 40% ที่ให้แสงสว่างเท่ากัน แถมอายุการใช้งานมากกว่าหลอดไฟแบบหลอดไส้ถึง 15 เท่า
และด้วยรูปทรงที่มีขนาดเล็ก เราจึงสามารถออกแบบให้มีรูปทรงหลากหลายเพื่อนำหลอดไฟ LED ไปใช้ติดตั้งและทดแทนหลอดไฟประเภทต่างๆ เพราะให้แสงสว่างและสีของแสงที่หลากหลาย ผลิตแสงสว่างได้ในปริมาณที่ต้องการ โดยใช้พลังงานน้อยลง มีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่ามาก
เลือกหลอดไฟแบบไหนจะช่วยประหยัดค่าไฟที่สุด
หลอดไฟถือเป็นอุปกรณ์ที่มีอายุในการใช้งาน เมื่อหลอดเสื่อมสภาพหรือหมดอายุการใช้งาน ก็ต้องซื้อหลอดใหม่มาเปลี่ยนทดแทน ดังนั้นถ้าจะพูดถึงความคุ้มค่าหรือประหยัดแล้วนั้น นอกจากเรื่องค่าพลังงานในการใช้ไฟ ก็จำเป็นต้องนำเรื่องของอายุการใช้งานมาเป็นส่วนประกอบด้วย รวมไปถึงราคาและค่าสว่าง
ข้อดีของหลอดไฟแอลอีดี (LED) เมื่อเทียบกับหลอดไฟประเภทอื่นๆ คือเป็นหลอดไฟที่ไม่ปล่อยรังสียูวี UV และ อินฟาเรด IR ทำให้ปลอดภัยต่อผิวของเรา รวมทั้งให้แสงสว่างที่ถูกต้อง ชัดเจน ทำให้สีวัตถุไม่เพี้ยน (CRI) และสามารถออกแบบให้หลอดไฟปรับโทนสีของแสงได้ ปัจจุบันทางเลคิเซ่เองก็ได้มีการพัฒนาหลอดไฟ LED รุ่นใหม่ๆ ให้มีค่าความสว่างเท่าเดิม แต่ใช้พลังงานน้อยลงเรื่อยๆ อีกด้วย
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจผิดว่าเวลาเลือกซื้อหลอดไฟให้ดูที่วัตต์ ยิ่งวัตต์มากยิ่งสว่าง แต่จริงๆ แล้ววัตต์เป็นหน่วยของพลังงานที่ใช้ ยิ่งมากแปลว่ายิ่งกินไฟ ซึ่งการที่เราจะเลือกซื้อหลอดไฟมาใช้ ก็มีองค์ประกอบหลายอย่างที่เราต้องนำมาพิจารณาควบคู่กัน
1. ค่าพลังงาน : มีหน่วยเป็นวัตต์ (Watt)
ค่าวัตต์ที่เราเห็นบนกล่องหลอดไฟ เป็นค่าพลังงานที่ใช้ ยิ่งวัตต์สูง ยิ่งทำให้ค่าไฟฟ้าสูงตามไปด้วย เช่น หลอดไฟ 15W หมายความว่า เมื่อเปิดหลอดไฟใช้งาน หลอดไฟดวงนั้น กินไฟ 15 วัตต์ต่อชั่วโมง
2. ค่าความสว่าง : มีหน่วยเป็นลูเมน (Lumen)
ลูเมนเป็นหน่วยในวัดค่าฟลักซ์ส่องสว่าง หรือความสว่างของแสงที่ออกมาจากหลอดไฟ ถ้าหลอดไฟที่มีค่าลูเมนสูง แสดงว่าหลอดไฟดวงนี้ให้แสงสว่างมาก
3. ค่าประสิทธิภาพ : หรือ ประสิทธิภาพการส่องสว่าง lm/W (Efficacy)
แสดงถึงความสัมพันธ์ระหว่างค่าความสว่างซึ่งตามนุษย์รับรู้ กับปริมาณการแผ่รังสี เป็นการนำค่าแสงสว่าง (ลูเมน) มาหารด้วยค่าพลังงาน (วัตต์) ซึ่งค่าลูเมนต่อวัตต์ที่ออกมา หมายถึง หลอดไฟหลอดนี้ใช้พลังงาน 1 วัตต์ สามารถให้แสงสว่างได้กี่ลูเมน ถ้ายิ่งลูเมนต่อวัตต์ ยิ่งสูง ยิ่งดี เพราะให้ค่าความส่องสว่างที่สูง แต่ใช้พลังงานน้อย ทำให้เรารู้ถึงความคุ้มค่าของหลอดไฟมากยิ่งขึ้น แถมยังสามารถช่วยประหยัดค่าไฟได้อีกด้วย
4. ค่าอุณหภูมิสีของแสง : (Color Temperature) มีหน่วยเป็น Kelvin (K)
หรือ ค่าอุณหภูมิสีสัมพันธ์ (Correlated Colour Temperature, CCT) จะเป็นระบบการวัดแสงโดยมีหน่วยเป็นองศาเคลวิน (Degree Kelvin) เนื่องจากสีคือคลื่นพลังงานความร้อนชนิดหนึ่ง มีตั้งแต่ 1,000-10,000 องศาเคลวิน (K) และเป็นที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าค่าองศาที่น้อยจะให้แสงโทนสีเหลืองและค่าองศาที่สูงจะเป็นการให้แสงโทนสีขาวหรือแสงสีขาวอมฟ้า
โดยอุณหภูมิของแสงแบ่งเป็น 3 ชนิดหลัก ประกอบด้วย
2,000K-3,000K เป็นแสงโทนสีขาวอมเหลือง เป็นสีที่มีผลต่อความรู้สึก ทำให้อบอุ่นและผ่อนคลาย จึงเหมาะนำไปใช้ในสถานที่ให้บริการ อย่างเช่น ร้านอาหาร ร้านสปา คาเฟ่ โรงแรม หรือห้องนอน เป็นต้น
5,700K-6,500K เป็นแสงโทนสีขาว เป็นสีที่ดูเป็นธรรมชาติมากที่สุด ให้แสงใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์ จึงนิยมใช้เนื่องจากทำให้แสงที่สะท้อนจากวัตถุไม่เพี้ยน เหมาะสำหรับติดตั้งในสำนักงาน, โรงงานอุตสาหกรรม, ห้องทำงาน เป็นต้น
4,000K-5,500K เป็นแสงโทนสีขาวนวลตา คุณสมบัติคือทำให้สีจากวัตถุดูคมชัดและเข้มขึ้น สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับงานได้ทุกรูปแบบ ทั้งภายในและภายนอก ลดความอุ่นของแสงสีส้ม และลดความสว่างของแสงเดย์ไลท์ ทำให้เกิดความสมดุล นิยมใช้ในงานป้าย งานโชว์สินค้า ไฟบนเวที เป็นต้น
5. ค่าความถูกต้องของสี : หรือ Color Rendering Index (CRI)
เป็นค่าที่บอกว่าแสงไฟจากหลอดไฟหลอดนี้ เมื่อกระทบกับวัตถุจะทำให้สีของวัตถุเพี้ยนจากความเป็นจริงมากน้อยเพียงใด ซึ่งใช้มาตรฐานจากแสงอาทิตย์ที่ถือว่าเป็นแสงธรรมชาติ หากหลอดไฟหลอดใดมีค่า CRI สูงยิ่งให้ความถูกต้องของสีวัตถุใกล้เคียงกับแสงอาทิตย์มากที่สุด ทำให้สีไม่เพี้ยน ซึ่งค่าต่างๆ สามารถดูได้บนกล่องหลอดไฟได้เลย
6. รูปทรงของหลอดไฟ : Shape
หลอดไฟแต่ละประเภท มีรูปทรงที่หลากหลาย และค่อนข้างคล้ายกัน อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการเลือกซื้อ เราจะต้องพิจารณาจากรูปทรงของหลอดที่ควรมีรูปทรงมาตรฐานและขนาดไม่เกินของหลอดไฟที่นำมาทดแทน เพื่อตอบโจทย์ในการให้แสงสว่างที่มีคุณภาพและความปลอดภัย
โดยหลอดไฟ มีรูปทรงมาตรฐาน ดังนี้
ที่มา : fuchsiadesign
7. ขั้วหลอดไฟ
การเลือกซื้อหลอดไฟที่ขาดไม่ได้ คือ การเลือกขั้วหลอดไฟ ให้ตรงกับแท่นขั้วที่เราจะนำหลอดไฟไปใช้งาน ซึ่งปกติแล้วขั้วหลอดไฟจะมี อยู่ 4 ประเภทหลักๆ
7.1 ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว มีให้เลือกใช้งานตั้งแต่ E10 – E40, EX39 โดยขั้วหลอดไฟแบบเกลียว ที่ได้รับความนิยมในการเลือกซื้อ คือ E14 และ E27 ซึ่งขั้วหลอดไฟแบบเกลียว
7.1.1 ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว E14 นิยมใช้กับหลอดรูปทรงจำปา, ทรงหลอดศาลเจ้า หรือทรงเปลวเทียน และทรงกระบอกเล็ก ส่วนใหญ่จะใช้กับโคมตกแต่ง หรือโคมไฟระย้า
7.1.2 ขั้วหลอดไฟแบบเกลียว E27 ถือเป็นขั้วหลอดไฟที่นิยมนำมาใช้กับหลอดไฟมากที่สุด เพราะสามารถใช้ร่วมกับหลอด LED Bulb, หลอดไส้ Incandescent ที่มีรูปทรงหลอดทรงน้ำเต้า, หลอด Compact Fluorescent ที่เป็นทรงเกลียวหรือหลอดตะเกียบ หรือหลอดปิงปอง รูปทรงกลม และปัจจุบันยังสามารถนำมาใช้ร่วมกับหลอด High Watt รูปทรง T-Bulb โดยตัวหลอดจะมีเกลียวอยู่ที่บอดี้ด้านล่างของหลอด ระยะเส้นผ่านศูนย์กลางของบอดี้หลอดด้านล่าง = 27 มิลลิเมตร จึงเรียกว่าขั้ว E27 ส่วนใหญ่นิยมใช้ติดตั้งภายในบ้าน อาคาร สำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล
7.2 ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว มีลักษณะของขั้ว (ขา) หลอดไฟเป็นเขี้ยวหรือเป็นแง่ง ยื่นออกมาจากบอดี้ทั้งสองขา เพื่อใช้เสียบกับขั้วรับให้พอดี มีให้เลือกใช้งานตั้งแต่ G4 – G12 โดยวิธีดูขั้วประเภทนี้ให้วัดระยะระหว่างขั้วทั้ัง 2 ขั้ว ได้ระยะออกมาเป็นมิลลิเมตร โดยปัจจุบันนิยมใช้อยู่ 4
ประเภท
7.2.1 ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว G13 หรือขั้วของหลอดไฟนีออน หรือหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ T8, มีทั้งแบบสั้น ขนาด 18W และแบบยาว ขนาด 36W, หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ T5 และหลอดไฟ LED Tube ส่วนใหญ่นิยมใช้ติดตั้งภายในบ้าน อาคารสำนักงาน โรงงาน โรงพยาบาล
7.2.2 ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว GU5.3 มีลักษณะของขั้วเป็นแท่งเหล็กแหลมสั้นๆ 2 แท่ง โดยตัวเลข 5.3 คือ ระยะห่างระหว่างของแท่งเหล็ก 2 แท่ง คือ กัน 5.3 มิลลิเมตร นิยมใช้ร่วมกับหลอดไฟฮาโลเจนทรงถ้วย หลอด MR16 หรือหลอดไฟฮาโลเจนทรงแคปซูล เหมาะสำหรับใช้ส่องตู้โชว์ และยังช่วยลดความร้อนระหว่างการใช้งาน (Spotlux)
7.2.3 ขั้วหลอดไฟแบบเขี้ยว B22 เป็นขั้วหลอดไฟชนิดบิดล็อค โดยเขี้ยวล็อคจะเป็นแท่งเหล็กแหลม ๆ 2 แท่งเล็ก ๆ ยื่นออกมา 2 จุด โดยมีขั้วของไฟฟ้า L/N อยู่ข้างล่าง ซึ่ีง 22 ก็คือระยะเส้นผ่านศูนย์กลางของบอดี้หลอดด้านล่าง = 22 มิลลิเมต โดยวิธีการใช้คือกดและบิดเขี้ยวเข้าไปล็อคกันระหว่างหลอดกับขั้ว ทำให้การใส่และถอดหลอดไฟขั้ว B22 เป็นไปอย่างรวดเร็ว ง่ายต่อการติดตั้ง ใช้งานสะดวกและปลอดภัย เหมาะสำหรับพื้นที่ซึ่งต้องการติดตั้งไฟจำนวนมาก
เป็นอย่างไรบ้างคะกับความรู้เรื่องหลอดไฟ แบบจุกๆ ครบ ทุกเรื่องหลอดไฟที่จำเป็นต่อการเลือกซื้อ แค่นี้การเลือกซื้อหลอดไฟ ก็จะไม่ใช่เรื่องยากสำหรับคุณอีกต่อไป และที่สำคัญเวลาเลือกซื้อหลอดไฟ อย่าลืมเปรียบเทียบเรื่อง “ประสิทธิภาพการส่องสว่าง” ค่าแสงสว่างต่อค่าการใช้พลังงาน หรือ lm/W เพื่อเปรียบเทียบการประหยัดค่าไฟ ให้คุ้มค่าและตอบโจทย์ทุกการใช้งาน
ต้องการสอบถามข้อมูลเรื่องแสงสว่างเพิ่มเติม เพียงแค่คุณ…ทักมาหา เลคิเซ่ เรามีทีมพร้อมให้บริการคำปรึกษาแนะนำการเลือกหลอดไฟให้เหมาะสมกับการใช้งาน Line ID : @lekisegroup หรือ https://page.line.me/lekisegroup