ทิ้งหลอดไฟให้ถูกวิธี ดีต่อโลก ดีต่อเรา
ทุกคนรู้หรือไม่คะ? การกำจัดขยะประเภทหลอดไฟจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษโดยเฉพาะหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ที่มีส่วนประกอบหลักอย่าง แก้วและขั้วหลอด ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ แต่ก็มีสารพิษ อย่างเช่น สารปรอทและผงฟอสเฟอร์ ที่เคลือบหลอดไว้ ซึ่งมีผลอันตรายต่อร่างกายมนุษย์ อาทิเช่น เจ้าหน้าที่เก็บและขนขยะ อีกทั้งยังสามารถปนเปื้อนเข้าไปในแหล่งน้ำและวงจรอาหาร ถ้ามีการทิ้งที่ไม่ถูกวิธีอาจจะเกิดผลกระทบในระยะยาวที่ยากต่อการแก้ไข
ฉะนั้นการทิ้งหลอดไฟที่ไม่ใช้แล้ว ให้ถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ทุกคนไม่ควรมองข้าม วันนี้ LeKise จึงอยากมาแนะนำ “การทิ้งหลอดไฟให้ถูกวิธี ดีต่อเรา ดีต่อโลก” ต้องทำอย่างไร? ด้วย 3 วิธีง่าย ๆ ที่ทุกคนสามารถทำได้
1. ใส่กล่อง - นำหลอดไฟที่จะทิ้งใส่กล่องกระดาษที่เคยได้มาตอนซื้อหลอดไฟ เพราะตัวกล่องถูกออกแบบมาให้ซัพพอร์ตตัวหลอด หรือกรณีที่ไม่มีกล่องหลอดไฟแล้ว ให้ห่อหลอดไฟด้วยกระดาษหนังสือพิมพ์หลาย ๆ ชั้น เพื่อป้องกันหลอดไฟแตกกระจายออกมา
2. เขียนข้อความ - ติดข้าง ๆ กล่องหรือกระดาษห่อว่าเป็น “หลอดไฟใช้แล้ว” เพื่อให้เจ้าหน้าที่เก็บและขนขยะมองเห็นได้อย่างชัดเจน
3. แยกขยะ – ทิ้งขยะให้ถูกถัง ควรทิ้งลงในถังขยะอันตราย (ถังขยะสีแดงหรือถังขยะสีเทาฝาสีส้ม) ที่ทางเทศบาลหรือภาครัฐจัดไว้ให้ ไม่ทิ้งรวมไปในถังขยะทั่วไป หากไม่มี ควรวางในจุดที่เห็นชัดเจน ไม่เสี่ยงต่อการแตกหักเสียหายหรือเพื่อป้องกันอันตรายต่อพนักงานเก็บขยะและการปนเปื้อนสู่สิ่งแวดล้อม
สาระน่ารู้เพิ่มเติม : สีของถังขยะนั้นถูกแบ่งออกเป็นสีตามการใช้งานแต่ละประเภท 4 สี ด้วยกัน
• ถังขยะสีเขียว : รองรับขยะที่เน่าเสียและย่อยสลายได้เร็ว สามารถนำมาหมักทำปุ๋ยได้ เช่น ผัก ผลไม้ เศษอาหาร ใบไม้
• ถังขยะสีเหลือง : ถังขยะสีเหลืองรองรับขยะที่สามารถนำมารีไซเคิลหรือขายได้ เช่น แก้ว กระดาษ พลาสติก โลหะ
• ถังขยะสีฟ้า : ถังขยะสีฟ้ารองรับขยะย่อยสลายไม่ได้ ไม่เป็นพิษและไม่คุ้มค่าการรีไซเคิล เช่น พลาสติกห่อลูกอม ซองบะหมี่สำเร็จรูป ถุงพลาสติก โฟมและฟอยล์ที่เปื้อนอาหาร
• ถังขยะสีแดง หรือ ถังขยะสีเทาฝาสีส้ม : รองรับขยะที่มีอันตรายต่อสิ่งมีชีวิต และสิ่งแวดล้อม เช่น หลอดฟลูออเรสเซนต์ ขวดยา ถ่านไฟฉาย กระป๋องสีสเปรย์ กระป๋องยาฆ่าแมลง ภาชนะบรรจุสารอันตรายต่าง ๆ
เป็นยังไงกันบ้างคะ? กับ การทิ้งหลอดไฟให้ถูกวิธี ดีต่อเรา ดีต่อโลก เพียงเท่านี้ก็จะทำให้ปลอดภัยทั้งคนเก็บและคนทิ้งเลยค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : สำนักงานสิ่งแวดล้อม